NGC2169 -The 37 Cluster
![]() |
บนฟ้าก็มีตัวเลข NGC2169 หรือ 37 คลัสเตอร์ สเก็ตโดยผู้เขียน |
กลางดึกเมื่อต้นเดือนธันวาคม เสียงเครื่องสูบน้ำดังตึ๊กตึ๊กตึ๊ก เพื่อสูบน้ำเข้านาข้างหอดูดาวแว่วเสียงมาในขณะที่ผมกำลังเล็งกล้องดูดาวไปที่บริเวณมือของโอไรออนที่จับกระบองชูเหนือหัว ผมมองหานู โอไรออนนิส (ν Ori) และซาย โอไรออนนิส (ξ Ori) ในกล้องเล็ง หากใช้ดาวทั้งสองดวงเป็นฐานที่ยอดของสามเหลี่ยมจะมองเห็นจุดสว่างปนฝ้าขนาดเล็ก นี่คือเป้าหมายแรกของคืนนี้
ภาพที่เห็นในกล้องดูดาวทำให้ยิ้มกว้าง ตัวเลข 37 กลับหัวมองเห็นชัดเจนในเลนส์ตา หากไม่ได้มองเป็นตัวเลข กระจุกดาวตัวนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ผมนับได้รวมกันราว 20-30 ดวง มีราว 10 ดวงที่ต้องมองเหลือบถึงจะเห็น แม้สภาพท้องฟ้าขุ่นไม่ใส แต่ยังเห็นดาวที่เรียงเป็นตัวเลขชัดเจนทุกดวง
เพราะแบบนี้กระจุกดาวตัวนี้เลยได้ชื่อเล่นว่า 37 คลัสเตอร์ไปโดยปริยาย แนะนำให้ดูด้วยกล้องสะท้อนแสงเพราะภาพที่เห็นจะเป็นภาพจริงหัวกลับทำให้เราอ่านตัวเลขได้ง่าย แต่หากใช้กล้องหักเหแสงและใช้ไดอะโกนอล จะดูตัวเลขยากกว่าเพราะเป็นภาพกลับซ้ายขวาเหมือนดูในกระจก
ตามประวัติกระจุกดาวตัวนี้ค้นพบโดย วิลเลี่ยม เฮอเชลล์ เมื่อปี 1784 แต่เป็นไปได้ว่า จีวานนี โฮเดียน่า ไดสำรวจกระจุกดาวดวงนี้ตั้งแต่ปี 1654 แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเป็น NGC2169 หรือ NGC2194 ที่อยู่ใกล้เคียงกันแน่
ผมเคยดูกระจุกดาวตัวนี้ด้วยกล้องดูดาวขนาด 4 นิ้วหลายครั้ง แม้สภาพท้องฟ้าคล้ายกันแต่ก็ยากที่จะมองเห็นเป็นตัวเลขที่ชัดเจนแบบคราวนี้ ส่วนกระจุกดาวอีกตัวที่อยู่ใกล้เคียง NGC2194 ที่จะจางกว่าและละเอียดกว่า ดูน่าสนใจมาก จะเก็บไว้เป็นเป้าหมายถัดไป
![]() |
คลกภาพเพื่อขยาย |
ข้อมูลพื้นฐาน
Name: NGC2169, 37 Cluster
Type: Open cluster
Visual Magnitude: +5.9
Apparent Size: 5 arc minute
Constellation: Orion
Distance: 3400 ly
Coordinates:
RA: 06h 09m 35.06s
Dec: +72° 37’ 31.9”
Comments
Post a Comment