NGC 5139 Omega Centauri
NGC5139 หรือกระจุกดาวทรงกลมโอเมก้าเซนทอรี่ (ω Centauri) อยู่ในกลุ่มดาว Centaurus หรือ คนครึ่งม้า เป็นกลุ่มดาวทางทิศใต้และจะลับขอบฟ้าทางตะวันตกเฉียงใต้ราวเที่ยงคืนในช่วงกลางฤดูฝน
โอเมก้าเซ็นทอรี่เป็นกระจุกดาวที่ใหญ่และสว่างที่สุดบนท้องฟ้า มีขนาดที่ปรากฏประมาณดวงจันทร์ เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเป็นฝ้ากลมจางขนาดเล็ก เมื่อเราอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีแสงรบกวนจากเมือง เมื่อใช้กล้องสองตาจะสังเกตได้ง่ายและมีขนาดใหญ่ขึ้น มีคนรายงานว่ามีขนาดใกล้เคียงพระจันทร์เต็มดวง
ผมเคยดูด้วยกล้องดูดาวขนาด 4 นิ้วจากชานเมืองอย่างบางพลี ในคืนที่ฟ้าปานกลางดาวสว่างที่สุดกลางฟ้าประมาณแมกนิจูด 3 ที่กำลังขยาย 38 เท่า เป็นฝ้ากลมมีใจกลางสว่างแล้วฟุ้งออกมาด้านนอก ขนาดประมาณ 10’ หรือราว 1ใน3 ของพระจันทร์ ไม่สามารถแยกดาวในกระจุกออกเป็นเม็ดได้แม้ว่าจะใช้วิธีมองเหลือบ
ที่กำลังขยาย 76เท่า เริ่มมองเห็นเม็ดดาวด้วยการมองเหลือบ ที่ 128 เท่าภาพมืดลงดูยาก ยังคงต้องมองเหลือบเพื่อแยกดาวในกระจุกออกมา
โอเมก้าเซ็นทอรี่ถูกระบุว่าเป็นดาวดวงหนึ่ง มีบันทึกไว้ตั้งแต่สมัยปโตเลมี (200ปีก่อน ค.ศ.) Edmond Halley เป็นคนแรกที่บอกว่าไม่ใช่ดาวในปี 1677 ว่า "luminous spot or patch in Centaurus” คนที่ระบุว่าเป็นกระจุกดาวทรงกลมก็คือ John Herschel ในปี 1830
ช่วงมิถุนายน-กรกฎาคม ตอนหัวค่ำเป็นช่วงที่ Centaurus ขึ้นสูงสุดทางทิศใต้แต่ก็เป็นช่วงที่เป็นหน้าฝนสำหรับประเทศไทย ดังนั้นหากมีจังหวะที่ฟ้าเปิดทางทิศใต้เราต้องรีบฉวยโอกาสทันที
วิธีการฮอปไม่ยาก เพราะอยู่ห่างจากคอเซนทอร์ไปทางทิศตะวักตกเกือบ 5 องศาหรือราวๆฟิลด์กล้องเล็งพอดี หากไม่คุ้นเคยลองมองหากลุ่มดาวเซนทอรัสทางทิศใต้ แล้วใช้กล้องสองตากวาดดูโอเมก้าเซนทอริจะอยู่ราว 1 ใน 3 บนเส้นสมมติจากคอเซนทอร์หรือดาว ซีต้า เซนทอริ ไปโคนหางหรือแกมม่า เซนทอริ
![]() |
คลิกภาพเพื่อขยาย |
ข้อมูลทั่วไป
Name: Omega Centauri
Catalog number: NGC 5139, C 80
Type: Globular Cluster
Constellation: Centaurus
Visual Magnitude: +3.68
Apparent Size: 10.0’
Distance: 17 ly
Coordinates
R.A. 13h 27m 49.04s
Dec. -47° 33’ 58.0”
Comments
Post a Comment