σ Orionis & Struve761



หากไม่นับดาวแคระแดงที่หรี่ เล็กและจางจนยากจะดูด้วยอุปกรณ์ระดับสมัครเล่นทั่วไป ดาวที่เห็นเกลื่อนฟ้าส่วนมากไม่ใช่ดาวฤกษ์ที่โดดเดี่ยวแบบดวงอาทิตย์ของเรา แต่เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่กันเป็นคู่ที่เรียกว่า Double Star และที่มากกว่าสามดวงขึ้นไปเรียกว่าระบบดาวหลายดวงหรือ Multiple Star

ซิกมาโอไรออนนิส (σ Ori) เป็นดาวแมกนิจูด 4 มองเห็นด้วยตาเปล่าจากชานเมือง อยู่ใต้ดาวอัลนิทัคหรือเข็มขัดนายพรานดวงทางฝั่งตะวันออก ดาวดวงนี้เป็นระบบที่มีดาวฤกษ์ 5 ดวงโคจรอยู่ด้วยกัน การดู σ Ori ด้วยกล้องดูดาวจะได้โบนัสแถมมาอีกตัวคือ Struve 761 เป็นอีกระบบหนึ่งที่อยู่ใกล้กันมากห่างแค่ 3 อาร์คมินิทหรือราว 0.05 องศาเท่านั้นเอง

เมื่อกลางมกราคมที่ผ่านมาที่บ้านหมี่ ยังมองเห็น σ Orionis ด้วยตาเปล่าแม้ดวงจันทร์เกือบครึ่งดวงยังค้างฟ้า σ Ori แยกออกจากกันเป็น 3 ดวงได้ที่กำลังขยาย 33 เท่าบนกล้องดูดาวของผม ห่างออกไปนิดเดียวในฟิลด์ภาพเดียวกัน ระบบดาว Struve761 มี 3 ดวง ทั้งหมดจางกว่า σ Ori โชว์ตัวให้เห็นเป็นรูปสามเหลี่ยมมุมแหลม ผมค่อยไล่กำลังขยายขึ้นไปจนถึง 267 เท่า ทั้ง σ Ori และ STF 761 มีดาวเพิ่มขึ้นมาตัวละ 1 ดวงจางและบางเฉียบทั้งคู่

มาดูกันที่ σ Ori ดวงหลักเรียกว่า AB เป็นดาวสองดวงที่อยู่ชิดกันมากจนมองเห็นเป็นดวงเดียว (แมกนิจูด 4.2 กับ 5.1) สว่างเด่นชัด ดวง C จางมาก DและE สว่างพอกัน ทั้งหมดมีสีขาวอมฟ้า ส่วน STF 761 ดาว A สว่างแมกนิจูด 8 สว่างกว่า B และ C เล็กน้อย ดวงสุดท้ายที่จางที่สุดคือ D ข้อมูลยังไม่ชัดเจน แต่ก็ประมาณความสว่างราวแมกนิจูด 12 ครับ

สรุปว่า σ Ori กับ STF761 เมื่อมาอยู่คู่กันแบบนี้ ดูจุ๋มจิ๋ม น่ารักดีเหมือนกัน หากมีโอกาสก็ลองดูครับ หาง่ายและดูได้แม้จากในเมือง ขอแค่ให้ฟ้าเปิดเถอะ

แผนภาพทิศเหนือจะอยู่บนแต่ในภาพสเก็ตทิศเหนือจะอยู่ล่าง คลิกภาพเพื่อขยาย

ข้อมูลทั่วไป
Name: σ Orionis & Struve(STF) 761
Type: Multiple Star
Constellation: Orion
Visual Magnitude: σ Ori: 3.79, STF761: 7.9
Distance: σ Ori: 1200ly, STF761: N/A

Coordinates
R.A. 05h 39m 41.43s
Dec. -02° 35’ 30.3”

Comments

Popular posts from this blog

กลุ่มดาวคนเลี้ยงสัตว์ : Boötes

Lyra, The Harp

รายชื่อและคำอ่านกลุ่มดาวภาษาอังกฤษและภาษาไทย