Hydra : The snake water


กลุ่มดาวไฮดรา ต้นเดือนมิถุนายน 2566
ภาพจาก Stellarium


ต้นฤดูร้อนตอนหัวค่ำ หากฟ้าเปิด ไร้หมอกควันและแสงรบกวนจากเมือง ทางขอบฟ้าใต้จะเห็นกลุ่มดาวเรืออาร์โก้ที่ปัจจุบันแบ่งย่อยออกเป็น 3 กลุ่มคือท้ายเรือ ท้องเรือและใบเรือ นอกจากนั้นยังมีเซ็นทอรัส และกางเขนใต้ วางอยู่บนทางช้างเผือกที่สว่างเรืองใกล้ขอบฟ้า

เหนือขึ้นไปดูคล้ายทะเลสีเข้มอ้างว้าง เยื้องไปทางตะวันตกเฉียงใต้ มีดาวสว่างแมกนิจูดที่สองสีแดงใสส่องประกายอยู่ดวงเดียวสมกับชื่อ "อัลพาร์ด" ที่หมายถึงผู้โดดเดี่ยวในภาษาอาหรับ

อัลพาร์ดเป็นดาวสว่างที่สุดในกลุ่มดาวงูไฮดร้า หนึ่งใน 48 กลุ่มดาวจากหนังสืออัลมาเจสของพโทเลมีที่พิมพ์ราวปี คศ. 150 เป็นกลุ่มดาวที่มีลักษณะยาวคล้ายเชือก และมีพื้นที่มากที่สุดในบรรดากลุ่มดาวทั้งหมดบนท้องฟ้า หัวของงูอยู่ทางขวามือของอัลพาร์ดที่อยู่บริเวณคอหรือหัวใจของงูตัวนี้พอดี

กลุ่มดาวกลุ่มนี้ยาวขนานไปกับกลุ่มดาวจักรราศีและเส้นสุริยวิถี เริ่มจากหัวงูไฮดราทางทิศใต้ของกลุ่มดาวกรกฏ เรื่อยไปยังราศีสิงห์ ราศีกันย์ ปลายหางก็ไปชนกับราศีตุลย์พอดี ความยาวของกลุ่มดาวไฮดรานั้น แม้ว่าหัวงูจะอยู่กลางฟ้า หางงูยังไม่พ้นจากขอบฟ้าทางตะวันออก


ภาพพิมพ์ไม้โดย Cornelis Cort (1533-1578)
เฮอร์คิวลิสกำลังจัดการไฮดร้าโดยมีอิโอราอัสเป็นผู้ช่วย
กำลังใช้คบไฟเผาหัวงูไฮดร้าที่โดนตัดขาดไม่ให้งอกออกมาใหม่
ในรูปจะเห็นเฮอร์คิวลิสเหยียบปูไว้
ภาพจากวิกิคอมมอน


เครื่องปั้นดินเผากรีกโบราณเป็นรูปเฮอร์คิวลิส อิโอราอัสและงูเก้าหัวไฮดร้า
ศิลปะแบบ Caeretan Hydria อายุประมาณ 520-510ปีก่อนคริสตศักราช
ดูภาพและรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Getty Museum

ไฮดร้าเป็นงูเก้าหัวฆ่าไม่ตาย อาศัยในหนองน้ำใกล้เมืองเลนน่าในภารกิจที่สองของเฮอร์คิวลิส การกำจัดไฮดร้าต้องตัดหัวที่เป็นอมตะของงูตัวนี้จึงจะสำเร็จแต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นหัวไหน หากตัดผิด หัวที่โดนตัดก็จะงอกออกมาใหม่ทุกครั้ง

ภารกิจนี้เฮอร์คิวลิสต้องอาศัยความช่วยเหลือจากคนขับรถม้าของเขาที่ชื่อ "อิโอราอัส" คอยนำคบไฟไปเผาหัวงูที่เฮอร์คิวลิสตัดทิ้งทีละหัวเพื่อไม่ให้งอกขึ้นมาใหม่ และในขณะที่สาละวนกับการต่อสู้ เทพีเฮร่าที่ไม่ชอบเฮอร์คิวลิสแต่เดิม ส่งปูตัวใหญ่มาคอยรบกวนไม่ให้ไม่ให้จัดการไฮดร้าได้ง่าย

แต่สุดท้ายปูตัวนี้ก็โดนเฮอร์คิวลิสกระทืบจนตาย เทพีเฮร่าจึงส่งปูขึ้นไปเป็นกลุ่มดาวแคนเซอร์ประดับไว้บนฟ้า นอกจากนั้นยังเชื่อกันว่าไฮดร้าเป็นพี่น้องกับมังกรลาดอน ผู้ที่เฝ้าต้นแอปเปิ้ลทองคำในภารกิจที่สิบเอ็ดของเฮอร์คิวลิส ลาดอนก็คือกลุ่มดาวดราโกที่ล้อมกลุ่มดาวหมีเล็กใกล้ดาวเหนือ

ไฮดร้าบนฟ้าแสดงไว้แค่หัวเดียวอาจเป็นหัวอมตะกระมัง ยังมีนิทานอีกสายที่น่าสนใจ เป็นเรื่องของกลุ่มดาวไฮดร้าและกลุ่มดาวข้างเคียงคือคอร์วัสหรืออีกากับเครเตอร์หรือถ้วยน้ำ เรื่องมีว่า

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว อพอลโล่จะจัดงานเลี้ยงถวายจูปีเตอร์ จึงสั่งอีกาไปตักน้ำใส่ถ้วยมาเตรียมไว้รับรองแขก ระหว่างทางอีกาพบต้นมะเดื่อฝรั่งหรือต้นฟิกติดลูกเต็มต้น รู้สึกอยากกินจึงรอจนกระทั่งลูกฟิกสุก เมื่อกินจนอิ่มสบายใจก็ระลึกถึงงานที่อพอลโล่สั่ง ด้วยความกลัวที่กลับไปช้า ได้คิดอุบายและจับงูไปด้วย


กลุ่มดาวไฮดร้าและผองเพื่อน Urania's Mirror (1825) ภาพจาก Wikipedia
บางกลุ่มดาวในภาพนี้ยกเลิกไปแล้ว

อีกากลับไปทูลต่ออพอลโล่ว่า “ข้าถูกงูตัวนี้คอยทำร้ายและรบกวน ไม่ยอมให้ตักน้ำมาถวายทำให้มาช้า” อพอลโล่ซึ่งทราบความจริงอยู่แล้ว ไม่ยอมรับคำโกหก และลงโทษสาบให้อีกาไม่ได้ดื่มน้ำอีกเลยจนกว่าลูกฟิกจะสุก

หลังจากนั้นอพอลโล่ส่งงูไปเป็นกลุ่มดาวไฮดรา อีกาไปเป็นกลุ่มดาวคอร์วัส ถ้วยน้ำไปเป็นกลุ่มดาวเครเตอร์ ให้ทั้งหมดอยู่เคียงข้างกันไว้เตือนความจำ และอีกาจะไม่ได้ดื่มน้ำอีกตลอดกาลเพราะมีงูไฮดร้าคอยเฝ้าถ้วยน้ำเอาไว้

กลับมาที่ในกลุ่มดาวไฮดร้าบนท้องฟ้า บริเวณนี้มีจุดที่น่าสนใจอยู่หลายจุด ตัวแรก “v Hydrae” “วี ไฮเดร” ดาวคาร์บอนสีแดงที่ความสว่างเปลี่ยนแปลงได้ มีความสว่างระหว่าง 7-11 แมกนิจูด ดาวสีแดงเข้มแบบนี้ไม่กี่ดวงบนฟ้า ตำแหน่งอยู่ตรงกลางลำตัวของงู ช่วงใต้กลุ่มดาวเครเตอร์

แมสซายเออร์ 83 กาแลกซี่กังหันขนาดใหญ่ หนึ่งในกาแลกซี่ที่สว่างที่สุดในซีกฟ้าใต้ อยู่บริเวณรอยต่อระหว่างกลุ่มดาวไฮดรากับเซนทอร์ ด้วยความสว่างที่ 8 แมกนิจูดทำให้ติดอยู่ใน 25 กาแลกซี่ที่สว่างที่สุดบนฟ้า


ภาพสเก็ทช์ NGC3242 โดยผู้เขียน

NGC 3242 หรือ “Ghost of Jupiter” เนบูล่าดาวเคราะห์ที่มีสีออกเขียว ขนาดใกล้เคียงกับดาวพฤหัสเมื่อดูผ่านกล้องดูดาว แต่ในความจริงมีขนาดใหญ่และไกลออกไปกว่าดาวพฤหัสมาก อยู่บริเวณกลางลำตัวของงู

นอกจากนั้น ยังมีแกแลกซี่อีกมากกว่า 60 ตัวกระจายทั่วในกลุ่มดาวไฮดรา ส่วนมากสว่างราวแมกนิจูดที่ 12 ทำให้ต้องอาศัยกล้องดูดาวขนาดกลางขึ้นไป (8-10 นิ้ว) เมื่อรวมกับลักษณะที่ยาวข้ามฟ้าแล้วทำให้ไฮดรากลายเป็นสวนสนุกสำหรับ Star Hopping ทันที เพราะไม่ต้องขยับไปไหนไกลนักก็สนุกได้ตลอดคืน

ใครมีกล้องดูดาวสัก 10 นิ้วขึ้นไปน่าลอง มันน่าสนใจพอๆกับแมสซายเออร์มาราธอนทีเดียว


แผนที่กลุ่มดาวไฮดร้า คลิกภาพเพื่อขยาย


อ้างอิง
Ian Ridpath's Star tale website
Sky Safari
http://www.perseus.tufts.edu/Herakles/hydra.html
https://en.wikipedia.org/wiki/Caeretan_hydria

Comments

Popular posts from this blog

Gemini : กลุ่มดาวคนคู่

รายชื่อและคำอ่านกลุ่มดาวภาษาอังกฤษและภาษาไทย

Messier 64 : Black Eye Galaxy