NGC40
NGC40 หรือ Caldwell 2 เนบูล่าดาวเคราะห์ในกลุ่มดาวเซฟิอุส คนแรกที่พบคือวิลเลียม เฮอเชลล์เมื่อปี 1788 เฮอเชลล์บรรยายไว้ว่า “ดาวแมกนิจูด 9 ที่ล้อมรอบด้วยเนบูล่าสีน้ำนม” ในยุคนั้นเฮอเชลล์ใช้กล้องดูดาวขนาดหน้ากล้อง 475มม แต่ในยุคนี้คุณภาพของอุปกรณ์ดีขึ้นมาก มีรายงานว่ากล้องดูดาวขนาด 100มม ก็สามารถชมได้แล้ว
ในคืนที่ผมสังเกต เป็นเวลาราวเที่ยงคืนของต้นเดือนธันวาคม กลุ่มดาวเซฟิอุส อยู่ตำแหน่งตะแคงข้างและเริ่มลับขอบฟ้า หอดูดาว TJ แม้จะอยู่ใกล้ตัวเมืองบ้านหมี่แต่แสงรบกวนจากตัวเมืองไม่มากนัก ทิศเหนือมองเห็นดาวเหนือสว่างกว่าที่เขาใหญ่เสียอีก ทำให้พอจะมองเห็นดาวแมกนิจูด 3-4 บริเวณนั้นได้อยู่
ด้วยกล้องดูดาวสะท้อนแสงขนาด 8 นิ้ว เริ่มจากกำลังขยายต่ำที่สุดคือ 33 เท่า แม้ว่าต้องใช้วิธีมองเหลือบแต่ NGC40 ก็ถือว่าเป็นเนบูล่าดาวเคราะห์ที่สว่างมากตัวหนึ่ง เมื่อเพิ่มกำลังขยายอีกขั้นหนึ่งเป็น 56เท่า เป็นเรื่องแปลกที่มองเห็นง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น NGC40 มีดาวสว่างดวงหนึ่งอยู่ตรงกลางแผ่นดิสก์จางขาว ลักษณะเหมือนที่เฮอเชลล์บรรยายไว้ทุกประการ
เมื่อเพิ่มกำลังขยายเป็น 133 เท่า แทนที่จะจางลงเหมือนออบเจคอื่นกลับเป็นว่ายิ่งทำให้มองง่ายขึ้นอีก สุดท้ายที่กำลังขยาย 267 เท่าภาพมืดลงมองยาก แต่ก็ยังเห็นด้วยการมองเหลือบ เป็นวงกลมจางมีดาวดวงหนึ่งตรงกลาง
ตำแหน่งของ NGC40 อยู่ใกล้เขตติดต่อระหว่างเซฟิอุสกับคาสสิโอเปีย ตำแหน่งค่อนมาทางดาวเหนือ การฮอปไม่ยากนัก ให้เริ่มจากวางกล้องเล็งที่ λ Cep ให้มองหาดาว 6 แมกนิจูดทางทิศตะวันออก ฮอปไปดาวแมกนิจูด 6 โดยวางไว้ที่ขอบทิศเหนือในกล้องเล็ง NGC40 จะอยู่บริเวณขอบฝั่งตรงข้าม(ทิศใต้) หากใช้กล้องเล็งที่ให้ภาพกว้าง 5องศา
NGC40 ห่างจากเราราว 3500 ปีแสง เป็นกลุ่มกาซร้อนที่หลุดออกมาจากดาวแคระขาวที่ยังร้อนอยู่ตรงใจกลาง ตัวดาวมีอุณหภูมิพื้นผิวราว 50,000 องศาเซลเซียส กลุ่มกาซมีอุณหภูมิราว 10,000 องศาเซลเซียส อีก 30,000 ปี กลุ่มกาซจะกระจายหายไปจนหมด ทิ้งไว้แต่ซากดาวแคระขาวที่มืดเย็นขนาดประมาณโลกของเรา
ข้อมูลพื้นฐาน
Name: NGC40
Catalog Numbers: Caldwell 2
Catalog Numbers: Caldwell 2
Type: Planetary nebula
Visual Magnitude: +10.6
Apparent Size: 0.6x0.6 arc minute
Apparent Size: 0.6x0.6 arc minute
Constellation: Cepheus
Distance: 3500 ly
Coordinates:
RA: 00h 14m 38.3s
Dec: +72° 37’ 31.9”
Comments
Post a Comment