Messier 41

เมื่อสายลมหนาวเริ่มพัดโชยจากทิศเหนือ ยามดึกคืนนั้นเราจะเห็นดาวสว่างสีอมฟ้าสดใสทางทิศตะวันออก ดาวซิริอุสหรือดาวโจรตามที่คนไทยเรียก ซิริอุสเป็นดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุดบนท้องฟ้า เป็นประธานเด่นในกลุ่มดาวหมาใหญ่หรือ Canis Major
ต่ำลงมาจากซิริอุสไปทางทิศใต้ 4 องศา ถ้าฟ้ามืดพอเราอาจมองเห็นรอยแสงฟุ้งจางด้วยหางตา นี่คือกระจุกดาวเปิดแมสซายเออร์ 41 หากใช้กล้องสองตาช่วยจะยิ่งง่าย
เป็นไปได้ว่าเอ็ม 41 จะเป็นวัตถุที่จางที่สุดที่มีการค้นพบในยุคโบราณ เพราะอริสโตเติ้ลเขียนไว้ใน “Meteorologiga” เมื่อราว 325 ปีก่อนคริสตศักราชเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ใต้ซิริอุสไว้ว่า
“…some of the fixed stars have tails. And for this we need not rely only on the evidence of the Egyptians who say they have observed it; we have observed it also ourselves. For one of the stars in the thigh of the Dog had a tail, though a dim one: if you looked hard at it the light used to become dim, but to less intent glance it was brighter.
จากช้อความนี้เป็นไปได้ว่า อริสโตเติ้ลอาจจะเห็นเอ็ม41 ดาวหาง หรืออาจจะเป็นทางช้างเผือกแถวนั้น ไม่มีใครตอบได้
หากว่ากันตามหลักฐานที่มี กระจุกดาวตัวนี้ปรากฎครั้งแรกในแคตาลอคที่เรียกกันว่า “โฮเดียน่า 1654” ตีพิมพ์เมื่อปี 1654 โดย Giovanni Batista Hodierna นักดาราศาสตร์ชาวอิตาเลี่ยน ดังนั้นก็ถือกันว่าโฮเดียน่าเป็นผู้ค้นพบคนแรก ในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งก่อนปี 1654
สำหรับแมสซายเออร์ เขาสังเกตและใส่หมายเลขให้เป็นเลข 41 เมื่อคืนวันที่ 16 มกราคม ปีคศ. 1765 และบันทึกไว้ว่า
“Cluster of stars below Sirius, near Rho Canis Majoris; this cluster appears nebulous in an ordinary telescope of one foot; it is nothing more than a cluster of small stars.”
ผมไม่เจอข้อมูลของดาวที่ชื่อ Rho Canis Majoris จากที่ใดเลย ทำให้คาดว่าดาวดวงนี้คือ 12 Canis Majoris เพราะเป็นดวงเดียวที่อยู่ใกล้ที่สุด
ภาพ Sketch ภาพนี้เขียนขึ้นในคืนวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ไร่เขาน้อยสุวรรณา ท้องฟ้าคุณภาพปานกลาง มีหมอกควันทางทิศใต้เมื่อสะท้อนกับ Light Pollution ทำให้คืนนั้นไม่เห็นเอ็ม 41 ด้วยตาเปล่า แต่ปรากฎได้สบายด้วยกล้องสองตาขนาด 8x40 เป็นภาพดาวราว 10 ดวงอยู่รวมกันเป็นกระจุก มีซิริอุสเป็นดาวสว่างสดใสไปทางทิศเหนือ
เมื่อปลี่ยนมาที่กล้องดูดาว TOA130 ที่กำลังขยาย 55 เท่า ดูไม่ค่อยเป็นกระจุกดาวนัก เนื่องจากใช้กำลังขยายมากไป เมื่อเปลี่ยนมาที่ 33 เท่า ตัวกระจุกดาวก็มีขนาดพอดีๆกับฟิลด์ประมาณ 1.5 องศา
เอ็ม 41 มีขนาดใกล้เคียงกับเอ็ม 35 คือ ใกล้เคียงพระจันทร์เต็มดวงหรือครึ่งองศา ที่กำลังขยาย 33 เท่า ผมมองเห็นดาวราว 30-50 ดวง มีดาวสว่างคู่หนึ่งกลางกระจุก เห็นดาวสว่างใกล้เคียงกันจับเป็นคู่ได้อีกหลายคู่ เมื่อสังเกตให้ดีดาวสว่างในกระจุกยังเรียงตัวเป็นรูปก้นหอย
มีจุดหนึ่งที่ผมพลาดไปก็คือตรงดาวสว่างที่สุด ดวงที่อยู่ใกล้กับกลางกระจุกนักดาราศาสตร์รุ่นเก่าหลายคนรายงานว่าเป็นดาวยักษ์แดงและมองเห็นได้ว่ามีสีแดงหรือสีส้ม มีความสว่าง 6.9 แมกนิจูด ข้อนี้เป็นจุดสังเกตสำหรับนักดูดาวท่านอื่นว่าอย่าลืมครับ
สำหรับข้อมูลทั่วไป เอ็ม 41 อยู่ห่างออกไปจากเรา 2300 ปีแสง มีดาวในกระจุกราว 100 ดวง มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว 25-26 ปีแสง ออกห่างจากเราไปด้วยความเร็วราวๆ 34 กิโลเมตรต่อวินาที
![]() |
คลิกที่ภาพเพื่อขยาย |
Catalog No.: Messier41, NGC2287
Type: Open Cluster
Visual Magnitude: 4.5
Dimension: 38’
Constellation: Canis Major
Distance: 2300 ly
Coordinates:
RA: 6h 46m 49.27s
DEC:+20° 46’ 20.1”
RA: 6h 46m 49.27s
DEC:+20° 46’ 20.1”
Comments
Post a Comment